นายเรืองประทิน เขียวสด ครูโรงเรียนบ้านสองคอน ซึ่งเป็นในผู้ส่งเสริมการท่องเที่ยวในบริเวณดังกล่าว ระบุว่า สามพันโบก ถือว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในลำน้ำโขงเท่าที่ทราบกันมา ซึ่งในบริเวณเดียวกัน มีสถานที่ที่ชาวบ้านเรียกว่า แกรนแคนยอนน้ำโขง อันเกิดจากการกัดเซาะของน้ำหลายพันปี เป็นร่องน้ำขนาดใหญ่ สูงประมาณ 3-7 เมตร กว้างประมาณ 20 เมตร
แก่งหินสามพันโบก เป็นกลุ่มหินทรายแนวเทือกเขาภูพานตอนปลายที่ทอดตัวยาวริมฝั่งโขงไทยและลาว สายน้ำแคบและเป็นคุ้งน้ำ ณ เส้นรุ้งที่ N.15 องศา 47.472 ลิปดา และเส้นแวงที่ E.105 องศา 23.983 ลิปดา ริมฝั่งโขงบริเวณนี้เป็นกลุ่มหินที่เรียงตัวทอดยาว เป็นสันดอนขนาดใหญ่พื้นที่กว่า 30 ตารางกิโลเมตร ผาหินบริเวณโค้งด้านหน้ารับแรงน้ำที่ไหลจากตอนบน ก่อเกิดประติมากรรมธรรมชาติที่งดงาม
จุดเด่นที่น่าสนใจคือ โบก อันเกิดจากกระแสน้ำได้พัดพาก้อนกรวด หิน ทราย และเศษไม้ กัดเซาะขัดแผ่นหินทรายให้เกิดเป็นหลุมแอ่ง มีขนาดเล็กๆจนถึงขนาดใหญ่จำนวนมากมาย หินบางก้อนถูกกัดกร่อนคล้ายงานแกะสลักเป็นรูปสัตว์ รูปหัวใจ รูปมิกกี้เมาส์จากโบกจำนวนมากมาย จนสถานที่แห่งนี้ถูกขนานนามว่า สามพันโบก
แก่งสามพันโบก เป็นแก่งหินที่อยู่ใต้ลำน้ำโขงในช่วงฤดูน้ำหลาก ประมาณเดือนกรกฏาคม – เดือนตุลาคม และโผล่พ้นน้ำอวดความงามให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมได้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – มิถุนายน ทุกปี
เปิดตำนานสามพันโบก
จากประติมากรรมหินทรายที่มีรูปร่างดงามแปลกตา ก่อเกิดตำนานเรื่องเล่าตำนานพญานาคชุดแม่น้ำโขง ทุ่งหินเหลื่อม หินหัวสุนัข และปู่จกปู
ตำนานหินหัวสุนัข ทางเข้าของแกรนด์แคนยอนแม่น้ำโขง มีหินสวยงามลักษณะคล้ายหัวสุนัข ซึ่งมีตำนานเล่าขานกันต่างๆ นานา บ้างก็ว่า แต่ก่อนมีเจ้าเมืองเป็นผู้เรืองอำนาจประทับใจความงามของสามพันโบก จึงได้ส่งเสนามาศึกษาเพิ่มเติม เมื่อมาแล้วพบขุมทรัพย์เป็นทองคำ จึงให้สุนัข เฝ้าทางเข้าจนกว่าเจ้าเมืองจะออกมา เมื่อเจ้าเมืองได้เห็นสมบัติเกิดความโลภ กลัวเสนาจะได้ส่วนแบ่งจึงได้ออกไปทางอื่น สุนัขผู้ภักดีก็เฝ้ารออยู่ตรงนั้นจนตายในที่สุด บางตำนานก็ว่าลูกพญานาคในลำน้ำโขงเป็นผู้ขุดเพื่อให้เกิดลำน้ำอีกสายหนึ่งและได้มอบหมายให้สุนัขเป็นผู้เฝ้าทางระหว่างการขุดจนกระทั่งสุนัขได้ตายลงกลายเป็นหินรูปสุนัขในที่สุด
ตำนานหาดหินสี หรือทุ่งหินเหลื่อม ทุ่งหินเหลื่อมอยู่ในพื้นที่บ้านคำจ้าว ตำบลเหล่างาม อำเภอโพธิ์ไทร เป็นกลุ่มหินสีที่มีลักษณะแปลกตา คือหินแต่ละก้อน จะมีผิวเรียบเป็นมันประกอบด้วยสีเหลือง เขียว ม่วง น้ำเงิน มีขนาดตั้งแต่ก้อนเล็กเท่ากำปั้นและก้อนใหญ่สุดมีขนาดใหญ่กว่า 3 เมตร กระจายเป็นกลุ่ม 3 กลุ่มใหญ่ หินแต่ละก้อนถ้านำมาเรียงต่อกันจะเชื่อมกันได้สนิทคล้ายจิ๊กซอว์หินสี จากตำนานชาวบ้านที่เล่าขานต่อกันว่ากลุ่มหินสีดังกล่าวคือทองคำพญานาค ซึ่งเกิดจากการขุดสร้างแม่น้ำโขงของพญานาคตัวพ่อและตัวแม่ ส่วนร่องน้ำเล็กที่คู่ขนานกับแม่น้ำโขงเป็นผลงานของลูกพญานาคที่ขุดเล่น จนเกือบทะลุกับแม่น้ำโขง ลูกพญานาคพบหินเหมือนทองคำ จึงขุดขึ้นกองไว้เป็นบริเวณกว้างประมาณ 2 ไร่
ทุ่งหินเหลื่อม ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาศึกษาอย่างเป็นทางการ จึงมีคำถามที่รอคำตอบมากมาย ว่าหินกลุ่มนี้มากจากไหน หรือเกิดขึ้นอย่างไร และคำตอบจากนักท่องเที่ยวทุกคนคือ ความมหัศจรรย์ของธรรมชาตินั่นเอง
ตำนานปู่จกปู หลุมโบกที่เกิดขึ้นมากมาย ก่อเกิดเรื่องเล่า ปู่พาหลานมาจับปาบริเวณถ้างต้อน (ต้อนเป็นเครื่องมือดักปลาของคนอีสาน) บังเอิญไม่สามารถจับปลาได้จึงใช้มือล้วงปูหินริมน้ำโขงจนเกิดโบกจำนวนมาก
สามพันโบกในอดีต เป็นแหล่งที่ชาวบ้านมาจับปลาในหน้าแล้งตามหลุมแอ่ง โบก และสระบุ่ง เนื่องจากลุ่มแอ่งจำนวนมากมายเหล่านี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดจำนวนมากที่ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงใช้สำหรับการดำรงชีพ
สามพันโบกเริ่มเป็นที่รู้จัก และปรากฏสู่สายตานักท่องเที่ยว เมื่อนายเรืองประทิน เขียวสด ครูโรงเรียนบ้านสองคอน ผู้บุกเบิกได้พบความงามของสามพันโบก จึงได้ชวน นายสมชาติ เบญจถาวรอนันท์ เว็บมาสเตอร์ไกด์อุบลดอทคอม นายชาย บุดดีวัน ผู้ใหญ่บ้านโป่งเป้าและ อบต.เหล่างาม จัดกิจกรรม แคมปิ้ง เพื่อการประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อเว็บไซต์ ชุดกิจกรรมนอนกลางโขงชมทะเลดาว เมื่อเดือน 15-16 ธันวาคม 2549 ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนชอบท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี เขต 2 (ปัจจุบันเป็น ททท.สำนักงานอุบลราชธานี) ได้นำแหล่งท่องเที่ยวนี้ เข้าในกิจกรรมท่องเที่ยวแม่น้ำโขงรับตะวันใหม่ก่อนใครในสยามมาตลอด
สามพันโบกได้รับความสนใจอย่างมากเมื่อโฆษณาของ ท.ท.ท. ชุด เที่ยวไทยครึกครื้นเศรษฐกิจไทยคึกคัก เริ่มออกฉายภาพ สถานที่ท่องเที่ยวซึงเป็นฉากจบของโฆษณาชุดนี้จึงกลายเป็นคำถามว่า ที่ไหนกัน เมืองไทยมีที่แห่งนี้ด้วยหรือ นับตั้งแต่นั้นมา แก่งสามพันโบก จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่กำลังเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวติดอันดับประดับประเทศ
การเที่ยวสามพันโบก
การเดินทางไปเที่ยวชมสามพันโบก อยู่ห่างจากจังหวัดอุบลราชธานีประมาณ 120 กม. ตามทางหลวงอุบล - ตระการ - โพธิ์ไทร ทำได้ 2 ทางคือ
1. เดินทางท่องเที่ยวทางเรือ ไปยังแก่งสามพันโบก นิยมนั่งเรือจากหาดสลึงที่บ้านปากกะกลาง ต.สองคอน ล่องตามลำน้ำโขงระยะทาง 4 กิโลเมตร ระกว่างทางจะผ่าน “ปากบ้อง” จุดแคบที่สุดของแม่น้ำโขง หาดสลึง หินหัวพะเนียง เป็นแก่งหินกลางแม่น้ำที่ทำให้แม่น้ำโขงแยกออกเป็นสองสาย หรือสองคอนในภาษาท้องถิ่น จึงเป็นที่มาของชื่อบ้านสองคอนและสามพันโบก ศิลาเลข หาดหงส์ รายละเอียดเส้นทางเที่ยวทางเรือ
ปากบ้อง เป็นจุดชมวิวที่หมู่บ้านสองคอน ตำบลสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจุดที่แม่น้ำโขงไหลพาดปะทะแนวเทือกเขาภูพานตอนปลาย การปะทะกันของพลังธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ก่อให้เกิดภูมิประเทศที่มหัศจรรย์มากมาย ซึ่งจะสัมผัสได้ยามที่แม่น้ำโขงลดระดับลงได้ที่ในยามฤดูแล้งราวเดือนพฤศจิกายน - มิถุนายน ตลอดระยะทางที่ไหลผ่านประเทศไทย ยาวกว่า 700 กิโลเมตร เป็นจุดที่แม่น้ำโขง แคบที่สุด “ปากบ้อง” เป็นหน้าผาหินที่เกิดจากรอยแยกตัวของแผ่นหินทรายเปลือกโลก ลักษณะเหมือนคอขวด ส่วนที่แคบที่สุดวัดได้ 56 เมตร
หินหัวพะเนียง อยู่ในพื้นที่หมู่บ้านสองคอน ตำบลสองคอน อำเภอโพธิ์ไทย จังหวัดอุบลราชธานี ลักษณะทางภูมิศาสตร์ เป็น เกาะหินขนาดใหญ่กลางแม่น้ำโขงรูปร่างคล้ายอุปกรณ์ประกอบคันไถ อยู่ถัดจากบริเวณปากบ้องขึ้นไปทางเหนือประมาณ 500 เมตร เกาะหินใหญ่โผล่ขวางกลางลำน้ำโขง หินหัวพะเนียง มีรูปร่างคล้ายใบไถไม้ (ในภาษาถิ่น พะเนียงคือแท่นไม้ที่ใช้สวมใบไถเหล็ก) ชาวบ้านจึงเรียกว่า หินหัวพะเนียง แต่ลักษณะหินในบริเวณนี้บางกลุ่มจะเป็นช่อแหลมคม ซึ่งเกิดจากการปะทุขึ้นมาของหินทรายร้อนคล้ายหินภูเขาไฟ แต่ไม่ใช่แมกมาหรือลาวา เมื่อปะทุขึ้นมาปะทะกับกระแสน้ำเย็นจึงแข็งตัวกลายเป็นหินที่มีลักษณะเป็นช่อเรียกว่า “หินหัวพะเนียง” เป็นเกาะกลางแก่งหินกลางแม่น้ำที่ทำให้แม่น้ำโขงแยกออกเป็นสองสาย
หาดสลึง | จุดชมวิวหาดสลึง |
แก่งสองคอน เกิดจากการเกาะหินหัวพะเนียงกลางลำน้ำโขงซึ่งเป็นเกาะหินขนาดใหญ่รูปลักษณ์แปลกตาที่ขนาบข้างด้วย 2 แก่งน้ำโขง ทำให้แม่น้ำโขงแยกออกเป็นสองสายหรือสองคอน (ในภาษาถิ่นคอนแปลว่าแก่ง) จึงเป็นที่มาของชื่อ บ้านสองคอน
หาดสลึง เป็นหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำมูล ตั้งอยู่บ้านสองคอน ตำบลสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 115 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2050 (อุบลฯ – ตระการพืชผล – โพธิ์ไทร) ในฤดูแล้ง ประมาณมกราคม – มิถุนายน เมื่อน้ำในแม่น้ำโขงลดระดับลง จะมีหาดทรายที่สวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจเป็นอย่างยิ่ง จากตำนานเชื่อกันว่า ชื่อหาดสลึง เกิดจากการที่คนมาเล่นน้ำช่วงสงกรานต์นานมาแล้ว ในสมัยที่ใช้เหรียญสลึง 1 สลึงสมัยนั้น มีค่าสามารถซื้อควายได้ 1 ตัว ตามนิสัยของคนไทยบางคนเมื่อมารวมกันมาก มักจะมีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ผู้ที่มาเล่นน้ำที่หาดแห่งนี้ได้ตั้งคำท้าทายความสามารถโดยมีเดิมพันว่า ณ กลางเดือนเมษายน เวลาเที่ยงวันถ้าใครสามารถเดินหรือวิ่งบนหาดได้ตลอดแนว (ยาว 860 เมตร) โดยไม่แวะพักระหว่างวิ่ง จะได้รับเงินเดิมพัน 1 สลึง นับตั้งแต่มีการเดิมพันมาไม่เคยมีใครได้รับรางวัลนี้เลย ชาวบ้านจึงขนานนามหาดแห่งนี้ว่า “หาดสลึง”
เครื่องมือจับปลาแบบเดียวกับภาพเขียนสีผาแต้ม | การตักปลา |
การตักปลาที่บ้านสองคอน ชาวบ้านสองคอนยังมีงานประเพณีที่น่าสนใจ คือประเพณี ตักปลาในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ นักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่นตั้งใจมาดูเป็นพิเศษ คือการ “ตักปลา” หน้าปากบ้อง เพราะเป็นการจับปลาที่แปลกประหลาดกว่าที่อื่นๆ ไม่ต้องใช้เหยื่อตกเบ็ดหรือทอดแห แต่ใช้สวิงขนาดใหญ่ด้ามยาวคล้ายสวิงจับแมลงขนาดใหญ่คอยตักปลาที่วายจากเวินน้ำกว้างจะแหวกว่ายผ่านปากบ้องทวนกระแสน้ำเพื่อขึ้นไปวางไข่ได้ร่วมกันจัดงาน “เทศกาลตักปลา” ช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ของทุกปี มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก การท่องเที่ยวทางน้ำในช่วงเวลานี้นักท่องเที่ยวนิยมนั่งเรือเที่ยวเพื่อชมทัศนียภาพและวิถีชีวิตพื้นบ้าน ชมการประมงแบบดั้งเดิมที่น่าสนใจ ณ ตำบลสองคอนและตำบลเหล่างาม อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี
หินพัวพะเนียง | จุดชมวิวบนหินหัวพะเนียง |
หินหัวพะเนียง อยู่ถัดจากบริเวณปากบ้องขึ้นไปทางเหนือ มีแก่งใหญ่ขวางกลางลำน้ำโขง ทำให้แม่น้ำโขงแยกออกเป็นสองสาย หรือสองคอนในภาษาท้องถิ่นจึงเป็นที่มาของชื่อ บ้านสองคอน และในบริเวณใกล้เคียงยังมีถ้ำที่มีความสวยงามในลำน้ำโขงประกอบด้วย ถ้ำนางต่ำหูกหาดหินสี, แก่งสองคอน, ภูเขาหิน และหาดแห่
ผาหินศิลาเลข ร่องรอยประวัติศาสตร์สมัยฝรั่งเศสเรืองอำนาจ ในแถบอินโดจีน ฝรั่งเศสได้นำเรือกลจักรไอน้ำขนส่งสินค้าระหว่าง หลี่ผี เวียงจันทน์อยู่ก่อนถึงหาดหงส์ ที่ฝรั่งเศสแกะสลักตัวเลขที่หน้าผาหิน สำหรับบอกระดับน้ำในแม่น้ำโขง เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ เนื่องจากหน้าที่น้ำหลากบริเวณนี้จะมีแนวหินโสโครกจำนวนมาก
หาดหงส์ เนินทรายแม่น้ำโขงขนาดมหึมาเกิดจากการพัดพาของน้ำและนำตะกอนทรายมาทับถมกันจนลักษณะพื้นที่เป็นพื้นทรายกว้างใหญ่ มีลักษณะคล้ายกับทะเลทรายที่กว้างใหญ่ ช่วงเวลาที่นิยมมาเที่ยวหาดหงส์จะเป็นช่วงเวลาในยามบ่ายแก่ๆ ช่วงที่พระอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่สวยงามมาก เพราะแสงทองของดวงอาทิตย์จะกระทบกับทรายสีขาวระยิบระยับสวยงามยิ่งนัก
2. ขับรถเที่ยว คือ หากต้องการไปชมสามพันโบกอย่างเดียวก็สามารถขับรถไปที่นั่นเพื่อชมความงามได้เลย เพราะที่สามพันโบกรถสามารถเข้าไปจอดที่นั่นได้เลย
สามพันโบก เป็นแก่งหินที่อยู่ใต้ลำน้ำโขง เนื่องจากในช่วงฤดูน้ำหลากแก่งหินดังกล่าวจะจมอยู่ใต้บาดาล และด้วยแรงน้ำวนกัดเซาะ ทำให้แก่งหินกลายเป็นแอ่งเล็ก ใหญ่ จำนวนมากกว่า 3,000 แอ่ง หรือ 3 พันโบก โบก หรือแอ่ง หมายถึง บ่อน้ำลึกในแก่งหินใต้ลำน้ำโขง และคำว่า “โบก” เป็นภาษาของลาวที่มักนิยมเรียกกัน และ สามพันโบก กลายเป็นที่เพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืด ในลำน้ำโขงตามธรรมชาติ แหล่งใหญ่ที่สุด รักษาระบบนิเวศน์และการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำในลำน้ำโขงให้อยุ่ได้อย่างสมดุล
สำหรับในช่วงหน้าแล้ง สามพันโบก จะโผล่พ้นน้ำให้เห็นเป็นคล้ายภูเขากลางลำน้ำโขง ความสวยงามวิจิตรของหินที่ถูกน้ำเซาะมองเห็นเป็นภาพศิลปะ บางแห่งใหญ่ขนาดเป็นสระว่ายน้ำ บางแอ่งขนาดเล็ก มีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันออกไปเช่น รูปดาว วงรี และหินที่ถูกน้ำกัดเซาะจนดูคล้ายรูปหัวสุนัขพุดเดิ้ล มีความสวยงาม