วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

ประเทศไทยก่อนประวัติศาสตร์

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย


ดินแดนประเทศไทยก่อนที่จะมีการตั้งอาณาจักรไทยในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 หรือดินแดนประเทศไทยก่อนสมัยประวัติศาสตร์นั้น นักโบราณคดีชาวตะวันตกและชาวไทย (ดอกเตอร์แวนฮิกเกอเรน นายแพทย์สุด แสงวิเชียร และศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี) ได้แบ่งยุคก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนประเทศไทยไว้ 4 สมัย คือ
สมัยหินเก่า (Paleolithic)
สมัยหินกลาง (Mesolithic)
สมัยหินใหม่ (Neolithic)
สมัยโลหะ (Metal)1

1. สมัยหินเก่าในประเทศไทยยุคหินเก่าคือยุคที่มีอายุระหว่าง 500,000 – 10,000 ปีล่วงมาแล้ว ร่องรอยของมนุษย์หินเก่าในประเทศไทยมีค่อนข้างน้อย ในปี พ.ศ.2475 ศาสตราจารย์ฟริตซ์ สารแซง ชาวสวิตเซอร์แลนด์ได้เข้ามาสำรวจหาร่องรอยสมัยหินเก่าที่จังหวัดเชียงราย ราชบุรี และลพบุรี ได้พบเครื่องมือหินกรวด 2-3 ชิ้น ศาสตราจารย์ฟริตซ์ สารแซงได้ตั้งชื่อวัฒนธรรมเครื่องมือหินเก่าในประเทศไทยว่า ไซแอมเนี่ยน (Siamnian) แต่การค้นพบของศาสตราจารย์ฟริตซ์ สารแซง ไม่เป็นที่สนใจและยอมรับในหมู่นักมนุษย์วิทยาและโบราณคดี ชื่อของวัฒนธรรมนี้จึงตกไป
วัฒนธรรมยุคหินเก่าในประเทศไทยเพิ่งได้รับความสนใจอย่างจริงจังหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการค้นพบของดอกเตอร์ แวนฮิกเกอเรน นักมนุษย์วิทยาชาวฮอลันดาซึ่งเป็นเชลยศึกของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายมรณะ (กาญจนบุรี-มะละแหม่ง) ในระหว่างที่ถูกบังคับให้ทำงานดังกล่าวเข้าได้พบเครื่องมือหินจำนวนมาก เมื่อสงครามสงบลงเขาได้ส่งเครื่องมือหินเหล่านั้นไปตรวจสอบที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ต ผลปรากฏว่าเป็นเครื่องมือหินกรวดกะเทาะหน้าเดียว 6 ก้อน และขวานหินขัดสมัยหินใหม่ 2 ก้อน เครื่องมือหินดังกล่าวขุดพบที่สถานีบ้านเก่าจังหวัดกาญจนบุรี2
การค้นพบของดอกเตอร์แวนฮิกเกอเรน เป็นหลักฐานยืนยันอีกครั้งว่ามีมนุษย์ที่ใช้เครื่องมือหินเก่าอาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันและสันนิษฐานต่อไปว่ามนุษย์เหล่านั้นอาจจะเป็นเผ่าเดียวกันกับที่พบที่ชวาและปักกิ่ง ซึ่งมีอายุประมาณ 5 แสนปีมาแล้ว ดินแดนประเทศไทยปัจจุบันอาจจะเป็นทางผ่านสำหรับติดต่อ หรืออาจจะเป็นที่อยู่ระหว่างอารยธรรมทั้งสอง3 นอกจากจะค้นพบร่องรอยของวัฒนธรรมยุคหินเก่าที่จังหวัดกาญจนบุรี และยังพบเครื่องมือหินเก่าที่อำเภอเชียงแสนจังหวัดเชียงรายด้วย
2. สมัยหินกลางในประเทศไทยสมัยหินกลางคือช่วงเวลาระหว่าง 10,000-5,000 ปีล่วงมาแล้ว นอกจากสำรวจและขุดค้นของนักโบราณคดีทั้งไทยและต่างประเทศ ได้พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าดินแดนประเทศไทยบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลพบุรี และราชบุรี เป็นบริเวณที่มีผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัย 10,000 ปีถึง 7,000 ปีล่วงมาแล้ว หลักฐานที่พบมีทั้งโครงกระดูกมนุษย์ และโครงกระดูกสัตว์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือหิน และเปลือกหอย สมัยหินกลาง คือนอกจากจะรู้จักทำเครื่องมือหินใช้แล้ว ยังรู้จักนำเอากระดูกสัตว์และเปลือกหอยมาทำเป็นเครื่องมือ ส่วนพวกเครื่องใช้บางประเภทมนุษย์สมัยกลางสามารถทำภาชนะเครื่องปั้นดินเผา จำพวกหม้อ จาน ชาม หม้อน้ำขึ้นใช้ เครื่องปั้นดินเผาที่มนุษย์สมัยหินกลางทำขึ้น มีลักษณะผิวเรียบมัน พบที่ถ้ำผี อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน นับเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์4
3. สมัยหินใหม่ในประเทศไทยสมัยหินใหม่คือช่วงเวลาระหว่าง 5,000-2,000 ปีล่วงมาแล้ว จากการสำรวจและขุดค้นของนักโบราณคดีที่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี และขอนแก่น ได้พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่มีขนาดสูงประมาณ 150-167 ซม. ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้ที่พบ แยกออกเป็น 4 ประเภทคือ5
1) เครื่องมือที่ทำด้วยหิน ที่พบมากคือ ขวานหินขัด ที่ชาวบ้านเรียกว่า ขวานฟ้า เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายข้างหนึ่งมน ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งขัดไม้แหลมเรียบ แต่งให้คม ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นขวานศักดิ์สิทธิ์ที่ตกลงมาจากฟ้าขณะที่ฟ้าแลบหรือฟ้าผ่า ขวานหินขัดนี้ขุดพบทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย อายุของขวานหินขัดนี้ประมาณ 4,000 ปี
2) เครื่องมือที่ทำด้วยกระดูก เช่น ปลายหอก ลูกศร เป็นต้น
3) เครื่องมือที่ทำด้วยหอย เช่น พวกใบมีด
4) เครื่องมือที่ทำด้วยดินเผา ทำเป็นเครื่องใช้รูปต่าง ๆ เช่น หม้อ จาน แกนปั่นด้าย กระสุนดินเผา เป็นต้น

จากหลักฐานที่พบ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่ามนุษย์ยุคหินใหม่ที่อยู่ในบริเวณประเทศไทยปัจจุบันคงมีจำนวนมาก และตั้งหลักแหล่งกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย บางกลุ่มยังอาศัยอยู่ในถ้ำบางกลุ่มออกมาจากถ้ำมาสร้างบ้านพักหรือกระท่อม ในด้านวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ มนุษย์สมัยนี้มีความก้าวหน้ามากขึ้น มีความรักสวยรักงาม รู้จักทำเครื่องประดับร่างกายจากเปลือกหอย ลูกปัด ทำกำไลหิน กำไลกระดูก มีการฝังศพผู้ตายในท่านอนหงายแขนแนบลำตัว วางเครื่องปั้นดินเผาไว้เหนือศีรษะ ปลายเท้าและบริเวณเข่า นอกจากนั้นยังใส่สิ่งของเครื่องใช้ และเครื่องประดับในหลุมฝังศพด้วย
4. สมัยโลหะในประเทศไทยยุคโลหะนี้ในบางช่วงแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ยุคสำริด และยุคเหล็ก แต่การศึกษาที่ได้ทำกันหลายแห่งในประเทศไทย ยังไม่อาจจำแนกเป็น 2 ยุคดังกล่าวได้ชัดเจน กล่าวคือ
นักโบราณคดีได้พบร่องรอยของมนุษย์ยุคโลหะตอนต้นในประเทศไทย จากการขุดค้นที่ตำบลโนนกทา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น นักโบราณคดีพบโครงกระดูกมนุษย์และเครื่องมือที่ทำด้วยสำริดทั้งนั้น ไม่มีเครื่องมือที่ทำด้วยเหล็ก แต่มีขวานที่ทำด้วยทองแดงที่เกิดจากธรรมชาติ (ไม่ใช่ทองแดงถลุง) เอามาทุบเป็นรูปขวานโดยไม่ใช้ความร้อน นอกจากนั้นคณะสำรวจและขุดค้นยังพบแม่พิมพ์หินสำหรับหล่อขวานสำริดอายุประมาณ 4,120-4,475 ปีมาแล้ว เก่ากว่ายุคสำริดที่พบที่ดองซอนประเทศเวียดนามและเก่ากว่ายุคสำริดของจีนเล็กน้อยแหล่งที่พบเครื่องมือสำริดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ ที่ตำบลเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ที่นี่นักโบราณคดีได้พบทั้งเครื่องมือสำริด เครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับสำริด เครื่องปั้นดินเผารูปแปลก ๆ และมีลายเขียนด้วยสีแดงเป็นลายต่าง ๆ ประมาณ 1,000 แบบ และเครื่องประดับทำด้วยแก้วสีเขียว
การขุดค้นที่บ้านเชียงทำให้เกิดปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งคือ ถ้าพิจารณาเครื่องมือเครื่องใช้แล้วควรจะตัดสินว่าเป็นของมนุษย์ยุคโลหะตอนปลาย ซึ่งควรจะมีอายุประมาณ 2,100 ปีมาแล้ว แต่เมื่อได้ส่งเครื่องปั้นดินเผาไปพิสูจน์อายุ โดยวิธีเทอโมลูเนสเซ็นส์ (Thermoluminescence) แล้วปรากฏผลว่าเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดได้จากระดับความลึก 70-80 เซนติเมตรจากผิวดิน มีอายุประมาณ 5,554-460 ปีมาแล้ว ชิ้นส่วนที่ได้จากระดับความลึก 120 เซนติเมตร มีอายุประมาณ 5,574-175 ปีมาแล้ว นักโบราณคดีบางท่าน6 จึงสรุปว่ามนุษย์ผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมบ้านเชียงนั้นได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมเหล่านี้ไว้เมื่อประมาณ 5,000-7,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงนั้น นอกจากจะรู้จักการสร้างเครื่องมือ เครื่องประดับสำริด และอื่น ๆ ยังรู้จักทำผ้าไหมและเครื่องนุ่งห่มอีกด้วย ศาตราจารย์สุด แสงวิเชียร ได้สรุปวิวัฒนาการของวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไว้ว่า ดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน เป็นดินแดนที่มีมนุษย์อาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยหินเก่า คือเมื่อประมาณ 500,000 ปีมาแล้ว อาจจะอยู่ตามตำบลที่พบเครื่องมือ คือบริเวณแควน้อยใหญ่และตามเชิงดอยของจังหวัดกาญจนบุรี และเชียงราย แต่ยังไม่พบโครงกระดูกที่จะช่วยในการสันนิษฐานว่าเป็นมนุษย์ใด สมัยหินกลางพบร่องรอยของมนุษย์อาศัยอยู่ตามเพิงผา เช่น ที่เพิงผาหน้าถ้ำ จังหวัดแม่ฮ่องสอนพบโครงกระดูกซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นมนุษย์เผ่าโปรโตมาเลย์
สมัยหินใหม่มีมนุษย์อาศัยอยู่เกือบทั่วประเทศไทยปัจจุบัน บริเวณที่อยู่กันหนาแน่นคือ แควน้อยแควใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นกลุ่มที่มีวัฒนธรรมสูงสามารถทำเครื่องปั้นดินเผาได้ปราณีตเท่าเทียมเครื่องปั้นดินเผาที่พบในประเทศจีน ที่เรียกว่า “วัฒนธรรมโปรโตลุงซาน” และ “วัฒนธรรมลุงซาน” อยู่ทางตอนกลางของประเทศจีน จึงเป็นหลักบานยืนยันว่าได้มีมนุษย์ที่มีวัฒนธรรม ร่วมกันอาศัยอยู่ตั้งแต่ตอนกลางของประเทศจีนจนถึงแถบตะวันตกของดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน เนื่องจากโครงกระดูกที่พบมีลักษณะไม่แตกต่างจากโครงกระดูกของคนไทยปัจจุบัน นักโบราณคดีบางท่านจึงเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของไทยปัจจุบัน
สมัยโลหะของประเทศไทยยังมีปัญหาอยู่มาก เพราะมนุษย์ยุคโลหะที่พบทางตะวันตกของประเทศไทยปัจจุบันมีอายุเปรียบเทียบประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมนุษย์ยุคโลหะมีอายุประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว ทำให้เกิดปัญหาว่ามนุษย์ที่อาศัยอยู่บริเวณทั้งสองที่กล่าวนี้เป็นชนละเผ่ากันหรือเป็นเผ่าเดียวกัน แต่มีความจริงทางวัฒนธรรมต่าง กับพวกที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีวัฒนธรรมล้ำหน้า มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณตะวันตกของประเทศไทย และล้ำหน้ามนุษย์ที่อาศัยอยู่ในประเทศอื่น ๆ ในเอเชียอยู่ 3 อย่าง คือ
1) การหล่อสำริดเป็นเครื่องมือและเครื่องประดับ
2) การเขียนลายสีบนภาชนะดินเผา
3) รู้จักใช้ไหมมาทอเป็นเครื่องนุ่งห่มก่อนแหล่งอื่น

ดังนั้นประเทศไทยจึงมิใช่แหล่งที่เพียงแต่รับวัฒนธรรมจากแหล่งอื่นเท่านั้น แต่เป็นแหล่งอารยธรรมเริ่มแรกอีกแห่งหนึ่งของโลกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น