วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

จอมพล ป. พิบูลสงคราม







จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือในชื่อจริงคือ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม หรือหลวงพิบูลสงครามเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศไทย เป็นหนึ่งในผู้กุมอำนาจทางการทหารของคณะราษฏร์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ.2475 อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยนานถึงเกือบ 15 ปี
ประวัติ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม เกิดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 โดยมีชื่อเดิมคือ แปลก ขีตตะสังคะ เกิดที่ปากคลองบางเขน อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เป็นบุตรของนายขีด กับนางสำอาง ขีดตะสังคะ
การศึกษา
จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนกลาโหมอุทิศและโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี จากนั้นเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบก จนกระทั่งจบการศึกษา ขณะอายุ 19 ปี เมื่อปี พ.ศ.2459
การทำงาน
เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เข้ารับราชการทหารที่กองพลที่ 7 จังหวัดพิษณุโลก โดยมียศร้อยตรี จากนั้นได้สอบเข้าโรงเรียนเสนาธิการ โดยได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ต่อจากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกประเทศฝรั่งเศส และโรงเรียนทหารขั้นสูงของประเทศอิตาลี เมื่อจบการศึกษาเดินทางกลับประเทศไทยได้รับยศนายพันตรีและราชทินนาม “หลวงพิบูลสงคราม”
จอมพล ป. ได้เข้าร่วมคณะราษฏร์ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยเมื่อปี พ.ศ. 2475 และได้รับเลือกให้กำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ในขณะที่มียศทางทหารเป็นนายพันเอกและดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก และขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยรวมทั้งสิ้น 8 สมัย ดังนี้
สมัยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2481 – 6 มีนาคม พ.ศ.2485
สมัยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2485 -1 สิงหาคม พ.ศ.2487
สมัยที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2491 – 24 มิถุนายน พ.ศ.2492
สมัยที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2492 – 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494
สมัยที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 – 6 ธันวาคม พ.ศ.2494
สมัยที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2494 – 23 มีนาคม พ.ศ.2495
สมัยที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2495 – 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500
สมัยที่ 8 ตั้งแต่วันที่ 26 21 มีนาคม พ.ศ.2500 – 16 กันยายน พ.ศ.2500
จอมพล ป. พ้นจากตำแหน่งครั้งสุดท้ายโดยการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น จึงต้องหลบหนีออกจากประเทศไทย ไปพำนักยังประเทศญี่ปุ่น และถึงแก่อสัญกรรมที่นั่นด้วยโรคหัวใจวาย
จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอยู่ในตำแหน่งนานที่สุดของไทย โดยอยู่ในตำแหน่งนาน 14 ปี 11 เดือน 18 วัน
ชีวิตส่วนตัว
จอมพล ป. พิบูลสงคราม สมรสกับท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม มีบุตร 6 คน ได้แก่
1. พลตรีอนันต์ พิบูลสงคราม
2. พลเรือโทประสงค์ พิบูลสงคราม
3. ร้อยเอกหญิงจีรวัสส์ พิบูลสงคราม
4. นางรัชนิบูล พิบูลสงคราม
5. นางพัชรบูล พิบูลสงคราม
6. นายนิตย์ พิบูลสงคราม
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2507 ที่ประเทศญี่ปุ่น สิริอายุ 67 ปี
เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับจอมพล แปลก พิบูลสงคราม
จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นเจ้าของวลีอมตะซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” “ท่านผู้นำไปไหนฉันไปด้วย” และ “ไทยอยู่คู่ฟ้า” เป็นผู้ริเริ่มสิ่งใหม่ๆมากมายให้กับประเทศไทยเช่น การเปลี่ยนชื่อประเทศสยาม เป็น ประเทศไทย การดำเนินนโยบายให้คนไทยรู้สึกรักชาติ หรือ “รัฐนิยม” การเปลี่ยนแปลงเพลงชาติมาเป็นเพลงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน การให้กำเนิดโทรทัศน์เป็นครั้งแรก (ช่อง 4 บางขุนพรหม) การประกาศให้ข้าราชการเลิกนุ่งผ้าม่วง การให้เลิกสวมเสื้อราชปะแตน โดยให้หันมาแต่งกายแบบสมัยนิยม (แบบตะวันตก) แทน สั่งห้ามประชาชนกินหมากโดยเด็ดขาด การให้ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบนแล้วเปลี่ยนมานุ่งผ้าถุงแทน เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแบบสังคมไทยดั้งเดิมไปสู่ระบบสังคมแบบตะวันตกนั่นเอง
นอกจากนี้ จอมพล ป. เป็นผู้นำประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการยินยอมร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น